Skip to content

รู้หรือไม่ ลายไทยไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากไทย ?

    ลายไทย ศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ทุกคนรู้จักและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สะท้อนถึงศิลปะและวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่โบราณ ลวดลายงดงามอ่อนช้อยที่พบเห็นเสมอในศิลปะไทยแขนงต่างๆเราเรียกรวมๆกันว่าลายไทย จริงๆแล้วมีต้นแบบมาจากลวดลายในศิลปะอินเดียโบราณที่แพร่มาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมพร้อมกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว แต่ด้วยภูมิปัญญาและจินตนาการอันสร้างสรรค์ของช่างไทยในการนำสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็น พืชพันธุ์ไม้ ดอกไม้ สัตว์ ดวงดาว หรือแม้แต่แรงบันดาลใจในความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเช่น ดอกบัว พวงมาลัย ควันธูป และเปลวเทียน มาประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาจนเกิดเป็นลายไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอย่างที่รู้จักและคุ้นเคยในปัจจุบัน


    ลวดลายไทยบางอย่างก็ได้จากธรรมชาติ ต้นไม้ หรือสัตว์ และการได้รับอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับศาสนารวมถึงในด้านของไสยศาสตร์ ทำให้ลายไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับใช้สถาบันพุทธศาสนา และรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยนำไปใช้ประดับตกแต่งอาคารสถานที่หรือสถาปัตยกรรม เช่น โบสถ์ วิหาร ปราสาท พระราชวัง เครื่องนุ่งห่ม สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ทางด้านบ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้มีหลายรูปแบบและถูกนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะลายไทยพื้นฐาน นอกจากนำมาประยุกต์ใช้งาน เกิดผลงานทางด้านการออกแบบสร้างสรรค์ในหลายสาขาต่างๆ แล้วยังเป็นการดำรงคุณค่าทางศิลปะ วัฒนธรรมของไทยให้ปรากฏแก่ผู้พบเห็นทั้งชาวไทยด้วยกันและชาวต่างชาติ
    การศึกษาการวาดเส้นลายไทยจะแยกเป็นสองรูปแบบใหญ่ๆ คือ ลายไทย และจิตรกรรมไทย ซึ่งลายไทยที่เป็นลวดลายหลักสำคัญ ดังนี้

    ลายกระหนก เป็นลายพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญของลายไทย มีพื้นฐานจากสามเหลี่ยมชายธง อาจมีตัวเดียว หรือหลายตัวก็ได้ มักมีฐานมุมแหลมหันไปทางเดียวกัน โดยมีขนาดและสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ลายกระหนกที่สำคัญ ได้แก่ กระหนกสามตัวเปลว

    ลายกระจัง เป็นลายพื้นฐานประเภทหนึ่งที่สำคัญของลายไทย รูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ต้นแบบลายนี้มาจากธรรมชาติ เช่น กระจังตาอ้อย ต้นอ้อย กระจังฟันปลา

    ลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ลวดลาย “ลายช่อ” ที่มีรูปทรงพุ่ม ได้รับแรงบันดาลใจมาจากข้าวปั้นตีแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวตูมที่ใช้บวงสรวงบูชา นิยมนำไปใช้งานทางด้านที่เกี่ยวกับศาสนา

    ลายประจำยาม ลวดลายที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสตะแคง มีลักษณะคล้ายดอกไม้ โดยดัดแปลงมาจากดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ดอกสี่ทิศ”

    ลายกาบ เป็นลายที่กำเนิดลาย “ช่อลาย” โครงสร้างของลายนี้มาจากพืชพันธุ์ในส่วนที่เป็นกาบหุ้มตรงโคนหรือข้อ เช่น กาบของต้นไผ่ กาบต้นกล้วย

    ลายนกคาบและนาคขบ มีลักษณะเป็นหน้าของนกหน้านาคที่เอาปากคาบลายตัวอื่นเอาไว้หรือมีลายช่ออื่นๆ ออกทางปาก ตำแหน่งของลายนกคาบจะอยู่ตรงข้อต่อที่จะเชื่อมก้านกันและกัน

    ลายไทย งานประดิษฐ์กรรมในเชิงศิลปะชั้นสูงและสืบเนื่องมาแต่ครั้งโบราณกาลของไทย งานศิลปะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยบ่งบอกถึงภูมิปัญญาของคนไทยหรือช่างไทย ใช้จินตนาการในเชิงสร้างสรรค์มีแบบอย่างเฉพาะตัว นับได้ว่าเป็นศิลปะและวัฒนธรรมอันมีค่าของชาติเป็นที่เชิดหน้าชูตา ได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศว่า “ศิลปะลายไทยสวยงามไม่แพ้ชาติใดในโลก” แต่ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่นั้น มักไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสกับงานศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง อาจจะทำให้ศิลปะลายไทยค่อยๆ จางหายไป เพราะฉะนั้นเราควรรักษาและสืบสานศิลปะลายไทยไว้ให้อยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป

    แม้ว่าศิลปะไทยจะได้รับอิทธิพลจากหลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน ขอม เขมร แต่ช่างไทยก็สามารถนำไปพัฒนาลวดลายจนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่มีความแตกต่างไปจากชาติอื่น คือ ศิลปะไทยแตกต่างไปจากศิลปะตะวันตกตรงที่ศิลปะตะวันตกนั้นเป็นแบบธรรมชาตินิยม แต่ศิลปะไทยจะดัดแปลงธรรมชาติไปตามคตินิยมที่คิดสร้างสรรค์จากปรัชญา (ความเชื่อในเรื่องสวรรค์นรก) ดังเช่นภาพพระแม่ธรณีบิดมวยผม